จรรยาบรรณทางธุรกิจ

จรรยาบรรณและการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย
 

          บริษัทฯ จะปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายโดยสุจริต ยุติธรรม และมีความเท่าเทียมกันไม่เลือกปฏิบัติ ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ข้อบังคับแห่งกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนด จารีตประเพณี ศีลธรรมอันดีงาม
1. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อผู้ถือหุ้น
1.1 มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้มีผลประกอบการที่ดี สามารถสร้างผลกำไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว
1.2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกรายเพื่อประโยชน์สูงสุดโดยรวม
1.3 บริหารจัดการโดยนำความรู้ และทักษะการบริหารมาประยุกต์ใช้อย่างเต็มความสามารถทุกกรณี รวมทั้งการตัดสินใจดำเนินการใดๆ จะกระทำด้วยความโปร่งใส ระมัดระวังและรอบครอบ
1.4 รายงานฐานะการเงิน ผลการดำเนินการ และข้อมูลที่ไม่ใช่การเงินของบริษัทฯ ต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม สม่ำเสมอและครบถ้วนตามความเป็นจริง
1.5 ไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยใช้ข้อมูลใดๆ ของบริษัทฯ ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ และไม่ดำเนินการใดๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
1.6 ดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเท่าเทียมกันในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับฐานะและผลประกอบการของบริษัทฯ
1.7 ดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกำไรในรูปของเงินปันผลโดยเท่าเทียมกัน
1.8 ดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าร่วมประชุม โดยบริษัทฯ จะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการประชุมสิทธิการออกเสียงลงคะแนนตามแต่ละประเภทของหุ้น ขั้นตอนการออกเสียงลงคะแนน การแสดงความคิดเห็น
1.9 บริษัทฯ จะจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งครั้ง การประชุมเช่นว่านี้ ให้เรียกว่า “ประชุมสามัญ” การประชุมสามัญดังกล่าวให้กระทำภายในสี่เดือนภายหลังการสิ้นสุดรอบปีทางการบัญชีของบริษัทฯ การประชุมผู้ถือหุ้นคราวอื่นๆ ให้เรียกว่า “ประชุมวิสามัญ” อาจจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้น โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยปฏิบัติตามแบบวิธีการที่กฎหมายกำหนด หากผู้ถือหุ้นนั้นได้แจ้งความประสงค์ หรือให้ความยินยอมให้ส่งหนังสือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้กับบริษัท หรือคณะกรรมการ 
1.10 ก่อนการจัดประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทฯ จะจัดส่งหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมระเบียบวาระและความเห็นของคณะกรรมการบริษัทฯ ต่อตลาดหลักทรัพย์ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จัดส่งให้ผู้ถือหุ้นและนายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนการประชุม และดำเนินการให้มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ อย่างน้อยสามสิบวันก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นตามสมควร โดยมอบหมายให้บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (นายทะเบียนหลักทรัพย์) ทำหน้าที่นายทะเบียนของบริษัทฯ ในการส่งเอกสาร รวมถึงสารสนเทศต่างๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้นบริษัทฯ อนึ่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นนั้น ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์ติดต่อกัน 3 วัน และก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 
1.11 ในการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทฯ กำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นในเรื่องต่างๆ ดังนี้
  • ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมประชุมและลงคะแนนเสียงในการประชุมทุกครั้ง โดยสามารถเข้าร่วมประชุมและลงคะแนนเสียงได้ทุกวาระการประชุม เว้นแต่วาระที่ผู้ถือหุ้นรายใดมีส่วนได้เสีย และข้อกำหนดของกฎหมายห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนในวาระนั้นๆ
  • บริษัทฯ จะจัดให้มีการเผยแพร่สารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับกิจการแก่ผู้ถือหุ้นอย่างเพียงพอในการตัดสินใจในการประชุมแต่ละครั้ง ซึ่งได้จัดทำขึ้นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด
  • สิทธิในการแต่งตั้งกรรมการเป็นรายคนและถอดถอนกรรมการตามที่กฎหมายกำหนด
  • สิทธิในการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี
  • ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนได้ และทำหนังสือมอบฉันทะตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด การมอบฉันทะอาจดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แทนได้ โดยต้องใช้วิธีการที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ว่า การมอบฉันทะนั้น ได้ดำเนินการโดยผู้ถือหุ้น ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนด 
  • ถือหุ้นสามารถตรวจสอบข้อมูลการถือหุ้นของตนเอง ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นได้ที่บริษัทฯ หรือบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
1.12 บริษัทฯ มีนโยบายให้กรรมการทุกคนมีหน้าที่เข้าร่วมในการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นตามสมควร และกำหนดให้เลขานุการบริษัทฯ รับผิดชอบดำเนินงานในวันประชุมผู้ถือหุ้นให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยโปร่งใส มีประสิทธิภาพอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นในการประชุมทุกคราว รวมถึงเอื้อให้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิของตนได้ ดังนี้
วัน เวลา และสถานที่ประชุม
  • บริษัทฯ จัดให้มีการลงมติวาระเพื่อพิจารณาเป็นรายวาระ และลงมติเป็นแต่ละรายการในกรณีที่ในวาระนั้นมีหลายรายการ เช่น วาระการแต่งตั้งกรรมการ 
  • การออกเสียงลงมติใด ๆ หรือการอนุมัติกิจการใดๆ ในที่ประชุมใหญ่ จะต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจากเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้น ซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้จะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้น ซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออก เสียงลงคะแนน
ก. การขายหรือโอนกิจการของบริษัทฯ ทั้งหมด หรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่บุคคลอื่น
ข. การซื้อหรือรับโอนกิจการของบริษัทมหาชนอื่น หรือบริษัทเอกชนมาเป็นของบริษัท
ค. การทำ แก้ไข หรือเลิกสัญญาเกี่ยวกับการให้เช่ากิจการของบริษัทฯ ทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญ การมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าจัดการธุรกิจของบริษัทฯ หรือการรวมกิจการกับบุคคลอื่น โดยมีวัตถุประสงค์จะแบ่งกำไรขาดทุนกัน
  • บริษัทฯ กำหนดให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งการลงทะเบียนผู้ถือหุ้น การนับคะแนนและแสดงผล เพื่อให้การดำเนินการประชุมสามารถกระทำได้โดยรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ
  • ประธานในที่ประชุมหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากประธานในที่ประชุม จะเป็นผู้รายงานผลการนับคะแนนเสียงจากหนังสือมอบฉันทะที่ส่งมาก่อนการประชุมรวมกับคะแนนเสียงในที่ประชุม และแจ้งต่อที่ประชุมรับทราบ
วาระการประชุม
บริษัทฯ กำหนดให้มีคำชี้แจงและเหตุผลประกอบในแต่ละวาระหรือประกอบมติที่ขอตาม ที่ระบุไว้ในหนังสือเชิญประชุมสามัญ และ/หรือวิสามัญผู้ถือหุ้น หรือในเอกสารแนบวาระการประชุม ละเว้นการกระทำใดๆ ที่เป็นการจำกัดโอกาสของผู้ถือหุ้นในการศึกษาสารสนเทศของบริษัทฯ
 
การจัดทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น
  • บริษัทฯ จะจัดการทำรายงานการประชุมหลังจากเสร็จการประชุมทุกครั้ง โดยได้บันทึกจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง และมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าร่วมประชุม ทั้งจำนวนรายและจำนวนหุ้น รวมทั้งสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่เข้าร่วมประชุมเทียบกับจำนวนหุ้นที่ได้จำหน่ายแล้วทั้งหมด
  • รายงานการประชุมจะจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 14 วัน นับจากวันประชุมผู้ถือหุ้น โดยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้ รายชื่อกรรมการและผู้บริหารที่เข้าประชุม และสัดส่วนกรรมการที่เข้าร่วมการประชุมไม่เข้าร่วมการประชุม วิธีการลงคะแนนและนับคะแนน มติที่ประชุม และผลการลงคะแนน (เห็นชอบ / ไม่เห็น ชอบ / งดออกเสียง / บัตรเสีย / รวมทั้งหมด) ของแต่ละวาระประเด็นคำถามและคำตอบในที่ประชุม รวมทั้งชื่อ-นามสกุลของผู้ถามและผู้ตอบ ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นสามารถอ่านรายละเอียดของรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าว และ ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของบริษัทฯ
  • บริษัทฯ จะเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบถึงผลการลงคะแนนของแต่ละวาระการประชุมสามัญ และ/หรือการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันทำการถัดไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
2. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อภาครัฐ
          ในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ จะต้องหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจจูงใจให้รัฐหรือพนักงานของรัฐดำเนินการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม แต่การทำความรู้จักสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในขอบเขตที่เหมาะสมสามารถทำได้ เช่น การพบปะพูดคุยในที่สาธารณะต่างๆ การไปแสดงความยินดีในวาระโอกาส เทศกาล หรือตามประเพณีปฏิบัติ  เป็นต้น คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะถือปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด
2.1 ดำเนินการอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา เมื่อต้องการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานของรัฐ
2.2 ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด
2.3 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล และรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ต่อหน่วยงานนั้น
2.4 บริษัทฯ สนับสนุนให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้สิทธิของตนเองในฐานะพลเมืองดีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
3. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อลูกค้า
3.1 มุ่งมั่นที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความพึงพอใจในสินค้าและบริการ พร้อมการส่งมอบสินค้าด้วยความรวดเร็ว ตรงตามเวลานัดหมาย
3.2 รับฟังปัญหา/ข้อร้องเรียนจากลูกค้า และดำเนินการแก้ไขเพื่อให้ลูกค้าได้รับการตอบสนองผลอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งมีการประเมินความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อนำมาปรับปรุง/พัฒนาสินค้าและบริการให้ดีขึ้นต่อไป
3.3 ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีต่อลูกค้าอย่างเคร่งครัด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดได้ ต้องรีบแจ้งให้ลูกค้าทราบ เพื่อร่วมกันพิจารณาหาทางออกหรือแนวทางแก้ไข
3.4 ติดต่อ พบปะ ประสานงานกับลูกค้าด้วยความสุภาพ
3.5 รักษาข้อมูลที่เป็นความลับของลูกค้า และไม่นำข้อมูลของลูกค้าไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นโดยมิชอบ
 
4. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อคู่ค้า
4.1 งดเว้นการรับหรือจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริต ในการติดต่อหรือเจรจาต่อรองทางธุรกิจกับคู่ค้า ให้ปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและเสมอภาค ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย
4.2 กำหนดนโยบายจัดซื้อ จัดจ้าง ให้ชัดเจนและเป็นธรรม ในการคัดเลือกคู่ค้าที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และปฏิบัติตามสัญญา/เงื่อนไขทางการค้าที่ตกลงกันไว้กับคู่ค้าอย่างเคร่งครัด กรณีไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จะรีบแจ้งให้คู่ค้าทราบ เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไข โดยใช้หลักความสมเหตุสมผล
4.3 ให้โอกาสคู่ค้าที่ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย ไม่กระทำหรือสนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบทั้งในทางตรงและทางอ้อม
4.4 นโยบาย/แนวทางการส่งเสริมศักยภาพและความยั่งยืนร่วมกับคู่ค้า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีและร่วมกันพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน โดยการสื่อสารกับคู่ค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เกี่ยวกับการจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการ วางแผนพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมสนับสนุน และผลักดันบริษัทคู่ค้าให้มีการจัดการที่ดีร่วมกัน โดยยกระดับศักยภาพคู่ค้าผ่านการประเมินทางความยั่งยืน ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพสูงสุด
 
5. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อคู่แข่งขันทางการค้า
          บริษัทฯ มีนโยบายที่จะปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้าให้สอดคล้องกับหลักสากล ภายใต้กรอบแห่งกฎหมายเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติการแข่งขันทางการค้า ไม่ละเมิดความลับหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าของคู่แข่งด้วยวิธีฉ้อฉล โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้
5.1 ปฏิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดีซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
5.2 ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับและสิทธิอันชอบธรรมของคู่แข่งขันทางการค้าด้วยวิธีการไม่สุจริต หรือไม่เหมาะสม
5.3 ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งขันทางการค้าโดยการกล่าวหาในทางร้าย
5.4 ไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น หรือคู่แข่งขันทางการค้า
 
6. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อเจ้าหนี้
6.1 ปฏิบัติต่อเจ้าหนี้อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย
6.2 ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้จะรีบแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบ เพื่อรวมกันพิจารณาหาทางออกหรือแนวทางแก้ไข โดยใช้หลักความสมเหตุสมผล
6.3 นโยบายการปฏิบัติต่อเจ้าหนี้ บริษัทฯ พึงมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามสัญญา เงื่อนไข ข้อตกลง ภาระผูกพัน และหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นหรือหนี้สินที่เกิดขึ้นแล้วต่อเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัง โดยยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีหลักการและยุติธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหนี้ โดยเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเพื่อไม่ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย
6.4 แนวปฏิบัติ
  • บริษัทฯ พึงปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดกฎเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจร่วมกันและกรณีเมื่อไม่สามารถ  ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ ต้องแจ้งให้เจ้าหนี้รับทราบและพิจารณาหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน
  • บริษัทฯ หลีกเลี่ยงการรับหรือจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตในการดำเนินธุรกิจกับเจ้าหนี้ นอกจาก   ผลประโยชน์ตามข้อตกลงการดำเนินธุรกิจทั้งสองฝ่าย
  • บริษัทฯ รายงานภาระหนี้ ข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลอันเกี่ยวข้องที่เจ้าหนี้ควรรับรู้อย่างถูกต้องครบถ้วน และตรงเวลาให้แก่เจ้าหนี้เมื่อมีการร้องขอ
  • บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการเงินทุน บริหารกระแสเงินสด และการชำระหนี้โดยให้มีโครงสร้างเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นต่อเจ้าหนี้
  • บริษัทฯ ปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เสมอภาค  และเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
  • บริษัทฯ ไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของเจ้าหนี้อันขัดต่อผลประโยชน์ หรือ ทุจริต อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ
7. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อพนักงาน
          บริษัทฯ ตระหนักอยู่เสมอว่าพนักงานทุกคนเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดของบริษัทฯ เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงให้การดูแลและปฏิบัติที่เป็นธรรมทั้งในด้านโอกาส ผลตอบแทน การเจริญเติบโตในหน้าที่และสายงาน การพัฒนาศักยภาพความรู้ความสามารถ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร โดยบริษัทฯ ได้ยึดหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้
7.1 มุ่งมั่นที่จะสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ภายใต้ระบบคุณธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งแยกถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ศาสนา ฐานะ สถานศึกษา หรือสถานะอื่นใดที่มิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
7.2 กำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการแก่พนักงานอย่างเป็นธรรม ตามสภาพการตลาด การแข่งขันทางธุรกิจ ลักษณะของงาน ผลการปฏิบัติงาน และความสามารถของบริษัทฯ
7.3 การแต่งตั้ง โยกย้าย การให้รางวัลและการลงโทษพนักงาน เป็นไปด้วยความสุจริตใจ เหมาะสมตามความรู้ ความสามารถ ความรับผิดชอบและผลการปฏิบัติงาน และหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของพนักงาน
7.4 การพัฒนาทักษะ เสริมสร้างความรู้ความสามารถ ความปลูกฝังคุณธรรม สร้างจิตสำนึกให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม มีวินัยและประพฤติปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัทฯ โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การอบรม การสัมมนา และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ  
7.5 บริษัทมุ่งเน้นการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน ให้การสนับสนุน รวมถึงมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาสังคมและชุมชน
7.6 ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความสุภาพ ให้ความเคารพในสิทธิส่วนบุคคล สิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่เปิดเผยหรือส่งผ่านข้อมูลอันเป็นความลับ ข้อมูลส่วนบุคคลต่อบุคคลภายนอกหรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากพนักงาน
7.7 ปฏิบัติต่อพนักงานภายใต้กรอบกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฯ
7.8 จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิต สุขภาพ และทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ เพื่อเป็นการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงาน
7.9 จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานเพื่อให้ปฏิบัติงานดำเนินไปด้วยความราบรื่น
7.10 ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการดำเนินงาน และการพัฒนาบริษัทฯ
7.11 เปิดโอกาสให้พนักงานมีช่องทางการสื่อสาร เสนอแนะหรือร้องทุกข์เกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งข้อเสนอแนะหรือข้อร้องทุกข์ดังกล่าว จะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากผู้บังคับบัญชา ผู้บริหาร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อกำหนดวิธีการแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และสร้างความสัมพันธ์อันดีในการทำงาน
 
8. การปฏิบัติและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
          บริษัทฯ มีความเชื่อว่าธุรกิจจะมีความเจริญก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง เมื่อสังคมมีความสงบสุขและสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน บริษัทฯ จึงตระหนักถึงความเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการส่งเสริม จัดทำ สนับสนุน เกื้อหนุนโครงการต่างๆ ที่แสดงถึงความผิดชอบเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกำลังความสามารถของบริษัทฯ
8.1 มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและอนุรักษ์ธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม ตลอดจนปฏิบัติตนเป็นศาสนิกชนที่ดีในการอุปถัมภ์กิจกรรมทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอ
8.2 ปลูกจิตสำนึกเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในการใช้ทรัพยากร ทั้งในรูปแบบวัตถุดิบ เงินทุน บุคลากร และพลังงาน ฯลฯ อย่างชาญฉลาด มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมและรณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดขึ้นกับพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่อง
8.3 ส่งเสริมให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน มีหน่วยงานกำกับดูแล สร้างมาตรฐานการจัดการที่ดี เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายหรือข้อกำหนดอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัทฯ
8.4 สร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างบริษัทฯ กับชุมชนและสังคม บนพื้นฐานความถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม
 
9. การให้และการรับสินบน การรับเงิน ของขวัญ และการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจหรือผลประโยชน์อื่นใดจากบุคคลที่ร่วมทำธุรกิจด้วย
          บริษัทฯ มุ่งหวังให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เป็นไปในทางที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงรับรอง การรับหรือการให้ของขวัญ ตามธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เป็นสิ่งที่อันควรปฏิบัติตามความเหมาะสม โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติดังนี้
9.1 ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานเรียกหรือรับผลประโยชน์ใดๆ จากคู่ค้า ผู้รับเหมา ผู้จัดส่งสินค้า ที่ปรึกษา และผู้ที่บริษัททำธุรกิจด้วย
9.2 ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานเสนอผลประโยชน์ใดๆ ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลูกค้า หรือบุคคลภายนอกเพื่อจูงใจให้ปฏิบัติในทางมิชอบ
9.3 ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานรับทรัพย์สิน สิ่งของ ของขวัญ ของที่ระลึกที่เป็นเงินสด เช็ค พันธบัตร หุ้น ทองคำ อัญมณี อสังหาริมทรัพย์ ของกำนัลใดๆ หรือประโยชน์อื่นใด เป็นการส่วนตัว อันเป็นการชักนำให้เกิดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตน ทั้งนี้ก่อนการรับของที่ระลึกควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ และเป็นไปตามจรรยาบรรณทางธุรกิจของบริษัทฯ โดยสิ่งของหรือของขวัญที่ให้แก่กันในหน้าที่การงานควรมีราคาไม่มากและเหมาะสมในแต่ละโอกาส
9.4 ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานให้ทรัพย์สิน สิ่งของ ของขวัญ ของที่ระลึกที่เป็นเงินสด เช็ค พันธบัตร หุ้น ทองคำ อัญมณี อสังหาริมทรัพย์ ของกำนัลใดๆ หรือประโยชน์อื่นใด เป็นการส่วนตัว เพื่อจูงใจในการตัดสินใจ หรือมีผลทำให้ผู้รับไม่ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติทางการค้าเช่นเดียวกันกับคู่ค้ารายอื่นๆ หรือผู้ที่บริษัทฯ ทำธุรกิจด้วย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ตนได้เข้าไปติดต่อประสานงาน ทั้งในหน่วยงานราชการ และหน่วยงานเอกชน เว้นแต่ในเทศกาล ในมูลค่าที่เหมาะสม และไม่เกี่ยวข้องกับการผูกมัดทางธุรกิจ และเป็นการให้ในนามบริษัทฯ อย่างเปิดเผยไม่ปกปิด ทั้งนี้การให้สิ่งของตามโอกาสหรือวาระต่างๆ ต้องมีมูลค่าไม่มากจนเกินปกติวิสัย
9.5 กรณีตัวแทน คู่สัญญา หุ้นส่วน หรือผู้อื่นใด ที่ต้องการให้ของขวัญ ของกำนัล หรือการเลี้ยงรับรองในนามบริษัทฯ ต้องได้รับการอนุมัติจากบริษัทฯ ก่อน
9.6 การรับของขวัญตามประเพณีนิยม หากพนักงานได้รับของขวัญที่มีมูลค่าเกินปกติวิสัยจากผู้ทำธุรกิจกับบริษัทฯ ให้พนักงานรายงานต่อผู้บังคับบัญชา และนำส่งของขวัญดังกล่าวแก่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลและบริหารสำนักงาน
9.7 ไม่เป็นตัวกลางในการเสนอ เงิน ทรัพย์สิน สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ หน่วยงานราชการ หรือองค์กรใดๆ เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษที่ไม่ควรได้ หรือทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติตามกฏ ระเบียบข้อบังคับ และข้อปฏิบัติทางกฎหมายที่กำหนดไว้
9.8 การใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจ และการใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามสัญญาทางธุรกิจสามารถกระทำได้ แต่ต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล ไม่เป็นการกระทำโดยตั้งใจครอบงำ หรือตอบแทนบุคคลใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบใดๆ
9.9 ค่าตอบแทนอันเนื่องจากการส่งเสริมการขาย จะต้องไม่ใช่การติดสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงในการทำธุรกิจร่วมกัน และไม่เป็นการรับเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลใด โดยสามารถรับได้ในกรณีที่เป็นการให้และรับบริษัทต่อบริษัท
 
10. การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
          คณะกรรมการบริษัท มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย หลักจริยธรรมและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งสนับสนุนการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ และตระหนักเป็นอย่างดีว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดนโยบายมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นไว้ โดยมีแนวปฏบัติดังนี้
10.1 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รวมถึงผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมาช่วงของบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด โดยต้องไม่กระทำการอันใดที่เป็นการเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อมุ่งหวังประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อน และผู้ที่เกี่ยวข้อง
10.2 ไม่ทำพฤติกรรมใดที่เป็นการแสดงถึงเจตนาว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าเป็นการให้หรือรับสินบน หรือติดสินบน แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชน หรือผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ในทางมิชอบ
10.3 ไม่ละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชั่นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยถือเป็นหน้าที่ที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ
ข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามนโยบายนี้ ผ่านช่องทางต่างๆ ที่บริษัทกำหนดไว้
10.4 บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคคลที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือแจ้งเบาะแสเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวกับบริษัทฯ โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ในมาตรการการคุ้มครองและรักษาความลับ และมีนโยบายว่าจะไม่มีการลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อบุคลากรที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้บริษัทฯ สูญเสียธุรกิจหรือพลาดโอกาสในการได้รับธุรกิจใหม่ โดยบริษัทฯ เชื่อว่านโยบายไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างสิ้นเชิง จะช่วยสร้างคุณค่าให้แก่บริษัทฯ ทั้งนี้บริษัทฯ ได้กำหนดกระบวนการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานขึ้นเพื่อเป็นแนวปฏิบัติกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ มีกระบวนการติดตาม ตรวจสอบได้
10.5 บุคคลที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่นก็จะถือเป็นการกระทำผิดนโยบายของบริษัทฯ ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษตามกฏระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ และในกรณีที่การกระทำดังกล่าวเป็นการเรื่องที่ผิดกฎหมายก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
10.6 คณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการบริหาร ตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ให้ความรู้ ความเข้าใจกับบุคลากรในองค์กร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้บุคลากรในองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น และเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการมีความซื่อสัตย์สุจริต จริยธรรมและจรรยาบรรณ
10.7 บริษัทฯ จัดให้มีกระบวนการประเมินความเสี่ยง การตรวจสอบและควบคุมภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันมิให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น
 
11. การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
บริษัทฯ ถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้โอกาสจากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทฯ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน และในการทำธุรกิจที่แข่งขันหรือเกี่ยวเนื่องกับบริษัทฯ จึงกำหนดเป็นข้อปฏิบัติสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ไว้ดังต่อไปนี้
11.1 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องไม่ใช้เวลาทำงาน หรือทรัพยากรของบริษัทฯ เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตัว เป็นต้นว่า การค้นหาข้อมูลหรือติดต่อเรื่องส่วนตัวในเวลางาน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรับงาน หรือกิจกรรมจากภายนอก อันอาจมีผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานในบริษัทฯ ด้อยลง
11.2 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจมีอิทธิพลเหนือการทำงานหรือการตัดสินใจ หรืออาจมีผลต่อความซื่อสัตย์ที่บุคคลนั้นพึงมีต่อบริษัทฯ อาทิ การใช้ตำแหน่งในบริษัทฯ จัดซื้อหรือจัด จ้างสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือคนใกล้ชิด การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในบริษัทฯ สร้างอิทธิพลเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น
11.3 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัทฯ และต้องไม่ยอมให้เหตุผลส่วนตัว หรือเหตุผลของบุคคลในครอบครัว มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่เบี่ยงเบนไปจากหลักการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทฯ เป็นสำคัญ
 
12. การรักษาข้อมูลอันเป็นความลับ
บริษัทฯ ถือว่า กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษาข้อมูลความลับของบริษัทฯอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลภายในที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ และมีผลกระทบต่อกิจการ หรือราคาหลักทรัพย์ โดยที่กรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง พนักงาน จะไม่ใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ของตนในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ และไม่เปิดเผยข้อมูลอันเป็นความลับของบริษัทฯ ต่อคู่แข่งขันทางธุรกิจ แม้พ้นสภาพจากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทฯ ไปแล้ว โดยบริษัทฯ มีวิธีการดูแลป้องกันในการนำข้อมูลภายในของบริษัทฯ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่นดังนี้
12.1 คณะกรรมการบริษัทฯ กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทที่มีข้อมูลภายใน ซึ่งรวมรวมตัวบุคคลที่ เกี่ยวข้อง เช่น คู่ที่อยู่ร่วมกัน และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ มีหน้าที่ในการรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภายในสามวันทำการ นับจากวันที่ซื้อ ขาย โอน หรือรับโอน
12.2 จำกัดการรับรู้ข้อมูลภายในเฉพาะ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน หรือบุคคลภายในที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามความจำเป็นและกำหนดอำนาจหน้าที่แก่บุคลากรผู้มีอำนาจเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทฯ ให้ชัดเจน
12.3 จัดส่งข้อความผ่านทาง Application Line หรือทาง E-Mail ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกท่านที่มีข้อมูลภายใน แจ้งกำหนดช่วงระยะเวลาห้ามการ
12.4 กำหนดระเบียบการรักษาความปลอดภัยทางด้านระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลสารสนเทศของบริษัทฯ อย่างเข้มงวด
12.5 ไม่ใช้ข้อมูลของบริษัทฯ ไปแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองหรือผู้อื่น 
12.6 ไม่เปิดเผยข้อมูลของบริษัทฯ ที่ยังไม่ควรเปิดเผย เว้นแต่เป็นข้อมูลที่ผู้มีอำนาจอนุมัติให้เปิดเผยได้หรือเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้ว
12.7 ไม่เปิดเผยข้อมูลเชิงธุรกิจต่อคู่แข่งขันแม้หลังพ้นสภาพการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ
 
13. ความรับผิดชอบต่อบริษัทฯ และทรัพย์สินของบริษัทฯ
13.1 การปกป้องทรัพย์สินของบริษัทฯ
        บริษัทฯ ส่งเสริมให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้ทรัพยากรและทรัพย์สินของ บริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า โดยกำหนดเป็นแนวปฏิบัติดังนี้
  • จะต้องใช้ทรัพย์สินและทรัพยากรของบริษัทฯ อย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลภายนอก
  • จะต้องช่วยกันดูแลทรัพย์สินใดๆ ของบริษัทฯ มิให้เสื่อมค่า ชำรุด หรือสูญหาย หรือนำไปใช้ในทางที่ผิด ขจัดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
13.2 การจัดทำเอกสาร
  • จะต้องทำเอกสารต่างๆ ด้วยความสุจริต รอบคอบ และเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
  • ห้ามมิให้ปลอมแปลงหนังสือ รายงาน หรือเอกสารของบริษัทฯ
  • ดูแลให้มีการจัดเก็บเอกสารที่สำคัญของบริษัทฯ ให้ครบถ้วนตามเวลาที่กฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด และเมื่อพ้นช่วงระยะเวลาที่ต้องเก็บรักษาเอกสารแล้ว พนักงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแลให้มีการทำลายด้วยวิธีที่เหมาะสม
13.3 การใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และสารสนเทศต่างๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
  • ห้ามมิให้ผู้บริหารและพนักงานเปิดเผยรหัสประจำตัว (Password) ที่ใช้ในการเข้าถึงระบบข้อมูลของบริษัทฯ แก่บุคคลอื่น
  • ห้ามมิให้ผู้บริหารและพนักงานเปิดเผยข้อมูลที่อยู่ในระบบข้อมูลของบริษัทฯ หรือข้อมูลที่บริษัทฯ ซื้อมา โดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ห้ามมิให้ผู้บริหารและพนักงานเปลี่ยนแปลง ทำซ้ำ ลบทิ้ง หรือทำลายข้อมูลของบริษัทฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ห้ามมิให้ผู้บริหารและพนักงานปรับแต่งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ หรือติดตั้งอุปกรณ์ใดๆ ที่นอกเหนือจากอุปกรณ์ที่บริษัทฯ ติดตั้งให้ เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาต
  • ห้ามมิให้ผู้บริหารและพนักงานติดตั้งโปรแกรมซอฟต์แวร์เพิ่มนอกเหนือจากที่บริษัทฯ ติดตั้งให้ เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาต
  • ห้ามมิให้ผู้บริหารและพนักงานใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทฯ ในการส่งต่อข้อมูล ข้อความที่กล่าวร้าย ทำให้เสื่อมเสีย หรือข้อความที่หยาบคาย ลามก ข่มขู่ ก่อกวน หรือสร้างความรำคาญให้กับผู้อื่น
  • ผู้บริหารและพนักงานควรใช้อินเตอร์เน็ตในการแสวงหาข้อมูล และความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน และจะต้องหลีกเลี่ยงเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายหรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
  • ผู้บริหารและพนักงานควรใช้อุปกรณ์อื่นๆ ที่บริษัทฯจัดให้อย่างมีจิตสำนึกรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของบริษัทฯ เป็นหลัก
13.4 การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่เลือกปฏิบัติ
         คณะกรรมการบริษัทฯ เคารพต่อสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
  • บริษัทฯ และพนักงานจะปฏิบัติต่อกันด้วยความสุภาพและเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าพนักงานจะปฏิบัติงานอยู่ที่ใด ในตำแหน่งใด จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ มีเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นเท่าที่ไม่ละเมิดเสรีภาพของบุคคลอื่นภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย
  • ส่งเสริม คุ้มครอง และกระตุ้นให้เกิดความเคารพต่อสิทธิในการปกป้อง คุ้มครอง และเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในทุกระดับ โดยจะไม่มีบุคคลใดได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติเนื่องจากเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ สีผิว สถานะทางเพศ อายุ ลักษณะหรือรูปลักษณ์ทางกายภาพ ภาษา ความเห็นทางการเมือง ทรัพย์สิน หรือลักษณะอื่นใดที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
  • กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการส่งเสริมสิทธิตามระเบียบสังคม และระเบียบสากลในทุกๆ ที่ที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจ และเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจดังกล่าวมิได้มีส่วนร่วมกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการเลือกปฏิบัติ
13.5 การไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
          คณะกรรมการบริษัทฯ มีนโยบายไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติดังนี้
  • ดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมาย ข้อบังคับ และข้อผูกพันตามสัญญาที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
  • ดูแลรักษางานอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ และไม่นำทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวไปใช้หรือให้บุคคลอื่นใช้โดยมิได้รับอนุญาต
  • เคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ไม่ละเมิด หรือนำผลงานของผู้อื่นไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เว้นแต่ได้รับอนุญาตหรือให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของผลงาน
  • ผลงานที่พนักงานได้สร้างสรรค์หรือเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ และเมื่อพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานแล้วจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวคืนแก่บริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เก็บไว้ในรูปแบบใด
13.6 สิทธิทางการเมือง และกิจกรรมอื่นๆ
  • บริษัทฯ ส่งเสริมให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ใช้สิทธิของตนเองตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ แต่ไม่มีนโยบายให้การสนับสนุนทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • ห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชากระทำการ สั่งการ หรือโน้มน้าวผู้ใต้บังคับบัญชาให้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท
  • การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ใช่สิทธิในนามบริษัทฯ แต่การเข้าร่วมกิจกรรมนั้นต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของบริษัทฯ
  • ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานกระทำการแอบอ้างชื่อเสียงของบริษัทฯ รวมถึงการนำทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปใช้ในกิจกรรมที่มิใช่กิจกรรมของบริษัทฯ
13.7 ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติดังนี้
  • ดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงาน คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงมีการตรวจติดตามและประเมินผลตลอดเวลา
  • สนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน โดยกำหนดระเบียบ วิธีปฏิบัติ และมาตรฐานการทำงานที่ปลอดภัย ตลอดจนการปรับปรุงสภาพการทำงาน สภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา
  • พนักงานต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานในแต่ละส่วนงาน เพื่อให้อันตรายต่างๆ ได้รับการควบคุม และมีผลกระทบต่อพนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานภายในบริษัทฯ ให้น้อยที่สุด
  • กำหนดมาตรการป้องกันและคู่มือการปฏิบัติงาน เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและความเจ็บป่วยจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในบริษัทฯ โดยจะเน้นการยกระดับระบบการจัดการให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  • จัดให้มีระบบการจัดการกับภาวะฉุกเฉิน โดยการจัดทำแผนรองรับและฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความมั่นใจต่อพนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานภายในบริษัทฯ รวมถึงชุมชนและสังคม
  • สนับสนุนให้มีการพัฒนาพนักงานให้มีความรู้ และสนับสนุนกิจกรรมด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อสร้างจิตสำนึกของพนักงานทุกระดับให้ปฏิบัติงานด้วยวิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัย
  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของพนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานภายในบริษัทฯ ในการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน


จรรยาบรรณกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงาน

กรรมการบริษัท และผู้บริหาร
1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง ซื่อสัตย์ สุจริต โดยปฏิบัติตามนโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
2. ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ รวมถึงการเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ยกเว้นมีเหตุจำเป็น
3. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง โดยในการประชุมมีเรื่องที่จะพิจารณา กรรมการที่มีส่วนได้เสียท่านนั้นต้องออกจากการประชุมและงดการมีส่วนร่วมใดๆ ในการพิจารณาตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว
4. ปฏิบัติหน้าที่โดยดำเนินการเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ด้วยความรอบคอบและมีเหตุผล โดยยึดถือประโยชน์ของบริษัทฯ หลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อความโปร่งใสในการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ
5. ไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจของบริษัทฯ ต่อบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคู่แข่งขัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์กร หรือผู้มีส่วนได้เสีย ยกเว้นในกรณีที่เป็นไปโดยกฎหมาย แม้หลังพ้นสภาพการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ ไปแล้ว
6. ไม่ใช้โอกาสหรือข้อมูลที่ได้จากการเป็นกรรมการ และผู้บริหารในการหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือทำธุรกิจแข่งขัน หรือเกี่ยวเนื่องกันในการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์จดทะเบียนของกรรมการ คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการได้มาหรือจำหน่ายซึ่งหลักทรัพย์ของกรรมการและพนักงาน และรายงานให้คณะกรรมการบริษัทฯ รับทราบในการประชุมคราวต่อไป
7. กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทที่มีข้อมูลภายใน (รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น คู่สมรสหรือคู่ที่อยู่ร่วมกันและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) จะไม่แลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ของบริษัท เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตนเองหรือผู้เกี่ยวข้องโดยใช้ข้อมูลของบริษัทที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนตั้งแต่หนึ่งเดือน ก่อนที่จะมีการเปิดเผยงบการเงินต่อสาธารณชน และต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบอย่างน้อยหนึ่งวันล่วงหน้าก่อนทำการซื้อ/ขายหลักทรัพย์ผ่านเลขานุการหรือเลขานุการคณะกรรมการบริษัท โดยเลขานุการคณะกรรมการบริษัทจะมีการแจ้งเตือนคณะกรรมการบริษัทล่วงหน้าก่อนอย่างน้อยหนึ่งวัน เมื่อใดก็ตามที่กรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงานของบริษัท ที่มีข้อมูลภายใน (รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น คู่สมรสหรือคู่รักที่อยู่ร่วมกันและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) ต้องซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ รายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ภายในสามวัน) ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
8. กรรมการบริษัทฯ ตามคำนิยามของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องรายงานการมีส่วนได้เสีย เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งเป็นครั้งแรก และให้รายงานทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลการมีส่วนได้เสียตามแบบที่คณะกรรมการเห็นชอบให้แก่ประธานกรรมการตรวจสอบทันทีที่ได้รับแจ้ง และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เพื่อให้เป็นไปโดยด้วย พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการตรวจสอบ และป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
9. มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นประจำทุกปี
พนักงาน
1. สนับสนุนและให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้เกิดผลดีและความเจริญก้าวหน้าแก่บริษัทฯ และพนักงาน
2. ปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา
4. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้สำหรับตนเอง หรือผู้อื่น โดยอาศัยหน้าที่การงานที่ทำกับบริษัทฯ
5. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ต่องาน หรือทรัพย์สินของบริษัทฯ
6. รักษาความลับทางการค้าและไม่นำข้อมูลภายในของบริษัทฯ เปิดเผยต่อบุคคลภายนอก
7. ยึดมั่นในการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือ สามัคคี และเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ และพนักงาน
8. ปฏิบัติต่อผู้มาติดต่อด้วยกิริยามารยาท อัธยาศัยอันดีงาม และการบริหารที่เป็นเลิศ รักษาภาพลักษณ์และชื่อเสียงของบริษัทฯ
9. ปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานด้วยความมีน้ำใจและมนุษย์สัมพันธ์อันดี ไม่กล่าวร้ายต่อผู้อื่นโดยปราศจากความจริง รวมทั้งไม่นำผลงานของบุคคลอื่นมาอ้างเป็นผลงานของตน
10. ปฏิบัติตนในฐานะพลเมืองดี ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยใช้สิทธิทางการเมืองอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน
11. ห้ามกู้ยืมเงินจากลูกค้า ผู้เกี่ยวข้องกับลูกค้าหรือผู้ที่ทำธุรกิจกับบริษัทฯ เว้นแต่เป็นการกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน
 

การดูแลให้มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ 

การวินิจฉัยข้อสงสัย
          ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่รับผิดชอบและให้คำแนะนำแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้รับทราบเข้าใจและปฏิบัติงานตามจรรยาบรรณที่กำหนดไว้ หากจรรยาบรรณไม่ครอบคลุมในกรณีใดๆ หรือหากยังมีข้อสงสัยไม่สามารถปฏิบัติหรือตัดสินใจได้ ให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชาในระดับสูงขึ้นไปตามลำดับขั้น ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งให้ถือคำวินิจฉัยของกรรมการผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ คณะกรรมการบริษัท เป็นที่สิ้นสุด 
การดูแลให้มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ
          บริษัทฯ กำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนที่จะต้องรับทราบทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามนโยบายและข้อปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณนี้อย่างเคร่งครัด และไม่สามารถอ้างได้ว่าไม่ทราบแนวปฏิบัติที่กำหนดขึ้นนี้
          โดยผู้บริหารทุกระดับในบริษัทฯ จะต้องดูแลรับผิดชอบและถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะดำเนินการให้พนักงานทุกคนภายใต้สายบังคับบัญชาของตนทราบ เข้าใจ และปฏิบัติตามคู่มือจรรยาบรรณนี้อย่างจริงจัง เพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจควบคู่ไปกับการธำรงไว้ซี่งจรรยาบรรณทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสีย บริษัทฯ และสังคม
         บริษัทฯ ไม่พึงปรารถนาที่จะให้เกิดการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย ขัดกับหลักจริยธรรมอันดีหากกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงาน ผู้ใดกระทำผิดจรรยาบรรณที่กำหนดไว้ จะได้รับโทษทางวินัยที่บริษัทฯ กำหนด และหากเป็นการกระทำที่เชื่อได้ว่าผิดกฎหมาย กฏเกณฑ์ ระเบียบ หรือข้อบังคับของรัฐ บริษัทฯ จะส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐดำเนินการต่อไปโดยไม่ชักช้า
          คณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการตรวจสอบ กำหนดให้มีการทบทวนจรรยาบรรณทางธุรกิจเป็นประจำทุกปี โดยนำปัญหาจากการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน หรือจากการประเมินความเสี่ยงมาเป็นหัวข้อในการทบทวนเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ หรือป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
          คณะกรรมการบริษัทฯ เปิดโอกาสให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย ในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเมื่อพบเรื่องที่อาจเป็นการกระทำผิดกฎหมาย การทุจริตคอร์รัปชัน การไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ หรือประพฤติ มิชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ตลอดจนพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดปัญหาหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทฯ รวมทั้งกรณีที่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือการไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างๆ โดยผ่านช่องทางและกระบวนการดังนี้
เรื่องที่รับแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน
1. เมื่อพบเห็นการกระทำที่ทุจริตที่เกี่ยวข้องกับองค์กรทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เช่น พบเห็นการติดสินบนหรือการรับสินบนหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐหรือเอกชน
2.พบเห็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนตามระเบียบปฏิบัติของบริษัทฯหรือมีผลต่อระบบการควบคุมภายในของบริษัทฯ จนทำให้สงสัยได้ว่าอาจเป็นช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชัน
3. พบเห็นการกระทำที่ทำให้บริษัทฯ เสียผลประโยชน์ กระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ
4. พบเห็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม จรรยาบรรณทางธุรกิจ
ช่องทางการรับแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชัน
     คณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบ เป็นผู้พิจารณารับเรื่องการแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียนการกระทำที่อาจทำให้เกิดความสงสัยได้ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายผิดศีลธรรม จรรยาบรรณทางธุรกิจ และการทุจริตคอร์รัปชัน โดยได้กำหนดช่องทางในการรับเรื่องดังนี้
แจ้งผ่านช่องทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ได้ที่
          1. ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ         E-Mail: [email protected] 
หรือ แจ้งผ่านไปรษณีย์ โดยระบุหน้าซองถึงหรือยื่นโดยตรง ได้ที่
 
         1. ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
ที่อยู่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 99/1-3 หมู่ที่ 13 ถนนบางนา-ตราด กม.7 ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540
ในกรณีผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน มีข้อร้องเรียนคณะกรรมการบริษัทฯ ขอให้ท่านส่งเรื่องร้องเรียนมายังประธานคณะกรรมการตรวจสอบโดยตรง
บุคคลที่สามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตและคอร์รัปชัน คือ ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของบริษัทฯ ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่แข่งทางการค้า เจ้าหนี้ ภาครัฐบาล ชุมชน สังคม ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ทั้งนี้ไม่ว่าท่านจะแจ้งด้วยวิธีใดดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ จะรักษาความลับของท่าน
ขั้นตอนการดำเนินการสืบสวน
1. เมื่อได้รับการแจ้งเบาะแส ประธานคณะกรรมการตรวจสอบหรือผู้ได้รับมอบหมาย จะเป็นผู้กลั่นกรอง สืบสวนข้อเท็จจริง
2.ระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริงประธานคณะกรรมการตรวจสอบหรือผู้ได้รับมอบหมาย แจ้งผลความคืบหน้าเป็นระยะให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนได้ทราบ โดยกำหนดระยะเวลาในการสอบสวนข้อเท็จจริงจน ถึงพิจารณาเสร็จสิ้นภายใน 30 วัน และสามารถขยายเวลาการสืบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาจนเสร็จสิ้นได้อีกไม่เกิน 30 วัน
3. หากการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อมูลหรือหลักฐานที่มี มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่กล่าวหาได้กระทำการทุจริตคอร์รัปชันจริง บริษัทฯ จะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ตนเองโดยการหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำอันทุจริตคอร์รัปชันตามที่ถูกกล่าวหา
4. หากผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำการทุจริตคอร์รัปชันจริง การทุจริตคอร์รัปชันนั้นถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทฯ ผู้ถูกล่าวหาจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทฯ ได้กำหนดไว้ และหากการกระทำทุจริตคอร์รัปชันนั้นผิดกฎหมาย ผู้กระทำผิดอาจจะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย ทั้งนี้โทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัทฯ คำตัดสินของประธานคณะกรรมการตรวจสอบ ถือเป็นอันสิ้นสุด
5. การร้องเรียนโดยไม่สุจริตหรือผิดช่องทาง การแจ้งเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแส ให้ถ้อยคำ หรือให้ข้อมูลใดๆ ถ้าพิสูจน์ได้ว่ากระทำโดยไม่สุจริต หรือทำผิดช่องทาง ถ้าเป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ บุคคลนั้นจะได้รับโทษทางวินัยตามมาตรฐานโทษด้วย แต่หากเป็นบุคคลภายนอก และบริษัทฯ ได้รับความเสียหาย บริษัทฯ จะพิจารณาดำเนินคดีกับบุคคลนั้นๆ ด้วย
         ในกรณีที่มีการร้องเรียน กรรมการบริษัทฯ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ในการรับเรื่อง หาข้อมูล และตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแจ้ง เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทฯ ให้ร่วมกันพิจารณาและกำหนดโทษตามที่เห็นสมควร
มาตรการคุ้มครองและรักษาความลับ
          เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลที่กระทำการโดยเจตนาสุจริต บริษัทฯ จะปกปิดชื่อ ที่อยู่ หรือข้อมูลใดๆ ที่สามารถระบุตัวผู้ร้องเรียนหรือผู้ให้ข้อมูล และเก็บรักษาข้อมูลของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ โดยจำกัดเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้
          ในกรณีที่มีการร้องเรียนกรรมการบริษัทฯ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบจะทำหน้าที่ในการคุ้มครอง ผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน อันตรายใดหรือความไม่ชอบธรรมอันเกิดมาจากการแจ้งเบาะแส ร้องเรียน การเป็นพยานหรือการให้ข้อมูล โดยขอให้ผู้ร้องเรียนส่งเรื่องมายังประธานคณะกรรมการตรวจสอบโดยตรง
          ประธานคณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจสั่งการตามที่เห็นสมควร เพื่อคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน อันตรายใดหรือความไม่ชอบธรรมอันเกิดมาจากการแจ้งเบาะแส ร้องเรียน การเป็นพยาน หรือการให้ข้อมูล
        ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ สามารถมอบหมายให้กับผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่แทนในการใช้ดุลยพินิจสั่งการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูล โดยผู้บริหารที่ได้รับมอบหมาย ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ได้รับแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียน ทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม (เช่น ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองโดยตรง)
          ทั้งนี้ ผู้ได้รับข้อมูลจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน มีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูล ข้อร้องเรียนและเอกสารหลักฐานของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ ห้ามเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
          บริษัทฯ จะรับฟังและดำเนินการกับทุกข้อร้องเรียนอย่างเสมอภาค โปร่งใสและเป็นธรรม โดยมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนที่เป็นระบบและยุติธรรม ข้อมูลของผู้ร้องเรียนจะถูกเก็บรักษาไว้เป็นความลับของบริษัทฯ
ช่องทางในการเปิดเผยข้อมูลการแจ้งเบาะแส
        บริษัทฯ ได้เปิดเผยช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ รายงานประจำปี และแบบแสดงข้อมูลประจำปี เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถติดต่อ/ร้องเรียนในเรื่องที่อาจจะเป็นการกระทำความผิดได้
บทลงโทษ
          บุคคลที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันก็จะถูกลงโทษตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ และในกรณีที่การกระทำดังกล่าวเป็นการเรื่องที่ผิดกฎหมายก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย โดยบริษัทฯ ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ ดังนี้
1. ตักเตือนด้วยวาจา และบันทึกไว้
2. ตักเตือนเป็นหนังสือ
3. พักงานไม่เกิน 30 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง พร้อมบันทึกการเตือน
4. เลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย 
          บริษัทฯ จะพิจารณาโทษตามความหนักเบาของความผิดที่ได้กระทำ ประกอบกับประวัติ ความประพฤติ และเจตนาของผู้กระทำผิดนั้น ซึ่งบริษัทฯ อาจลงโทษตามข้อหนึ่งข้อใด หรือหลายข้อในคราวเดียวกันโดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับที่กล่าวไว้
การเผยแพร่
1. บริษัทฯ จัดให้มีการสื่อสารจรรยาบรรณธุรกิจให้พนักงานทุกคนในองค์กรได้รับทราบ และมีการลงนามรับทราบเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งจัดให้มีการอบรมจรรยาบรรณธุรกิจ
2. นำจรรยาบรรณธุรกิจไปติดประกาศบนบอร์ดในสถานที่เด่นชัด ที่คนในองค์กรสามารถอ่านได้
3. มีการเผยแพร่จรรยาบรรณธุรกิจ ผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัทฯ หลายทาง เช่น หนังสือเวียน ติดประกาศบนบอร์ด อินทราเน็ต เว็บไซต์บริษัทฯ รายงานการเปิดเผยข้อมูลประจำปี
4. บริษัทฯ จัดให้มีการทบทวนหรือปรับปรุงจรรยาบรรณธุรกิจให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางที่ได้ยึดถือปฏิบัตินั้นเป็นไปด้วยความสุจริตและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
 
บทส่งท้าย
          จรรยาบรรณทางธุรกิจของ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฉบับนี้เป็นวินัยซึ่งกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องทำความาเข้าใจและยึดมั่นปฏิบัติ และไม่อนุญาตให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานกระทำการใดๆ ที่เป็นการขัดต่อจรรยาบรรณทางธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงานฉบับนี้ หากเกิดความไม่ชัดเจนหรือเกิดปัญหาอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในทางปฏิบัติ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานควรปรึกษาหารือผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น เพื่อร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไขหรือหารือข้อพึงปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป